หน้าแรก

วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558

๑.๓ ร่องรอยของรัฐระหว่างพุทธศตวรรษที่๖–๑๘


            การศึกษาร่องรอยอารยธรรมสมัยเริ่มแรกในดินแดนประเทศไทยจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลจากหลักฐานจดหมายเหตุจีนซึ่งบันทึกเรื่องราวของรัฐโบราณต่างๆ เพื่อชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของดินแดนในประเทศไทยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่๖เป็นต้นมา[4]

๑.๓.๑ หลักฐานเอกสารโบราณของจีน
            จดหมายเหตุราชวงศ์ฮั่นระบุว่าระหว่าง พ.ศ.๕๔๓–๕๔๘ คณะทูตจีนได้เดินทางจากกวางตุ้ง ผ่านเวียดนามและคาบสมุทรมลายู มุ่งสู่อ่าวไทยแล้วขึ้นบกที่คอคอดกระก่อนเดินทางบกต่อไปยังพม่า ผ่านเมืองต่างๆ อาทิ แคว้นตูหยวน แคว้นหลูม่อและแคว้นเฉินหลี นักวิชาการเชื่อว่าแคว้นเหล่านี้อาจอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทย[5]

            ในพุทธศตวรรษที่๘ คัง-ไถหรือคัง-ไท่(K’ang-Tai)และจู-ยิงหรือจู-อิ้ง(Chu-Ying)ระบุว่า อาณาจักรฟูนัน(Fou-nan)[6]หรือพนมเป็นอาณาจักรสำคัญซึ่งรุ่งเรืองและมีอำนาจมาก อีกทั้งยังมีเมืองขึ้นจำนวนไม่น้อยในแถบชายทะเลริมฝั่งอ่าวไทยโดยรอบตั้งแต่จันทบุรีในภาคตะวันออก ตลอดถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและคาบสมุทรมลายู เมืองขึ้นเหล่านี้มีชื่อเรียกเป็นภาษาจีนว่า แคว้นเตียน-ซุนหรือตุน-ซุน แคว้นชู-ตู-กุนหรือตู-กุน แคว้นเฉียว-ชิหรือชู-ลี แคว้นปิ-ซุง แคว้นพัน-พัน แคว้นทัน-ทัน แคว้นลัง-ยะ-สิว แคว้นชิ-ถูหรือเซียะ-โท้

            นักวิชาการเชื่อว่าแคว้นเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ประเทศไทย การกำหนดตำแหน่งของบางแคว้นยังไม่สามารถทำได้ชัดเจน[7] แต่แคว้นโบราณบางแคว้นก็สามารถระบุที่ตั้งของแคว้น อาทิ แคว้นพัน-พัน แคว้นลัง-ยะ-สิวและแคว้นชิ-ถู ซึ่งนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์พยายามเสนอแนวคิดในการที่จะระบุที่ตั้งทางภูมิศาสตร์จากการสำรวจศึกษาหลักฐานประวัติศาสตร์และโบราณคดีประเภทจารึก โบราณวัตถุและโบราณสถานที่เหลือในปัจจุบัน

            พระพุทธทาสภิกขุ(พระครูอินทปัญญาจารย์)ในงานเขียนชื่อ “แนวสังเขปโบราณคดีอ่าวบ้านดอน” เชื่อว่า แคว้นพัน-พันตั้งอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำตาปี มีศูนย์กลางอยู่ที่อ่าวบ้านดอน ปัจจุบันคือ ตำบลเวียงสระ อำเภอนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี[8] แต่พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ และสุจิตต์ วงษ์เทศ เชื่อว่า แคว้นพัน-พันตั้งอยู่ที่เมืองศรีมโหสถ อำเภอศรีมโหสถ[9]จังหวัดปราจีนบุรี

            พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เสนอว่า “ลัง-ยะ-สิว” อาจตรงกับภาษาพื้นเมืองว่า “นครชัยศรี” และสันนิษฐานว่าเมืองนี้ตั้งอยู่ทางฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีเมืองโบราณอู่ทอง อ.อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นศูนย์กลางสำคัญในระยะพุทธศตวรรษที่๑๒–๑๔ ต่อมาประมาณพุทธศตวรรษที่๑๕–๑๖ ศูนย์กลางของลัง-ยะ-สิวได้ย้ายไปอยู่ที่เมืองนครชัยศรี ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขต อ.เมือง จังหวัดนครปฐม ส่วนแคว้นชิ-ถูนั้นน่าะอยู่ในเขตจังหวัดสงขลาและพัทลุง จากการพบหลักฐานเงินตราโรมันอายุร่วมสมัยกับเอกสารของจีนที่กล่าวถึงพื้นที่บริเวณนี้[10]

            ผู้ช่วยศาสตราจารย์มยุรี วีระประเสริฐ ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ และเสนอว่าที่ตั้งของลัง-ยะ-สิวน่าจะอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดปัตตานี โดยระยะหลังแคว้นลัง-ยะ-สิวถูกเรียกว่า “ลัง-เจียง-ซู” หรือ“ลังกาสุกะ”[11] สอดคล้องกับความเห็นของต้วน ลี เซิง ที่เสนอว่าชื่อเมืองต่างๆ อาทิ เมืองจิ้น-หลิน หรือเมืองฉิน-เฉินในเอกสารของคัง-ไท่และจู-อิ้ง[12] ตั้งอยู่ที่จังหวัดราชบุรี ส่วนเมืองเตียน-ซุนหรือตุน-ซุน เป็นเมืองท่าสำคัญตั้งในลุ่มแม่น้ำตาปี จ.สุราษฎร์ธานี และสนับสนุนแนวคิดที่ว่าเมืองชิ-ถู หรือเซียะ-โท้-ก๊กในจดหมายเหตุราชวงศ์สุยและราชวงศ์ถังระหว่างพุทธศตวรรษที่๑๑–๑๔ นั้น ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดสงขลา[13]

๑.๓.๒ แคว้นสำคัญในดินแดนประเทศไทยก่อนสมัยอยุธยา
            ในพุทธศตวรรษที่๑๒ การติดต่อค้าขายระหว่างโรมันกับอินเดียสิ้นสุดลงเพราะการหมดอำนาจของอาณาจักรโรมัน นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาการแย่งชิงอำนาจกันเองในอินเดีย รวมถึงการล่มสลายของอาณาจักรฟูนันในพุทธศตวรรษที่๑๓ จากการรุกรานของอาณาจักรเจนละ ซึ่งเคยเป็นประเทศราชของอาณาจักรฟูนัน ทำให้แคว้นเล็กแคว้นน้อยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอิสระจากการปกครองของฟูนันและสร้างสรรค์บ้านเมืองพัฒนาขึ้นมาแทนที่ [14] ได้แก่ แคว้นทวารวดี แคว้นศรีจนาศะ แคว้นศรีวิชัย แคว้นตามพรลิงค์ แคว้นหริภุญชัย แคว้นละโว้ แคว้นสุโขทัย แคว้นล้านนา แคว้นสุพรรณภูมิ และแคว้นอโยธยา

๑) แคว้นทวารวดี

            หลวงจีนเหี้ยน-จาง หรือเหยียน-จางหรืองซวน-ท้ง หรือพระถังซำจั๋ง เดินทางไปแสวงบุญยังอินเดียทางบกในพุทธศตวรรษที่๑๒ และหลวงจีนอี้จิงซึ่งเดินทางไปอินเดียทางทะเลในพุทธศตวรรษที่๑๓ตรงกับสมัยราชวงศ์ถัง[15] นักบวชทั้งสองรูปกล่าวถึงบ้านเมืองต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนี้

            “แคว้นลัง-ยะ-สิว ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของแคว้นชิ-หลี-ตา-ซา-ล้อ ทางทิศตะวันออกของแคว้นลัง-ยะ-สิว คือแคว้นโต-โล-โป-ตี(To-lo-po-ti) หรือชิ-โห-โป-ตี[16] หรือโฉ-โห-โป-ตี [17] ทางทิศตะวันออกของแคว้นโต-โล-โป-ตี คือแคว้นอี-ซี-นา-โป-โล และแคว้นมอ-โห-เจียม-โปหรือหลิน-ยี่”[18]

            แคว้นชิ-หลี-ตา-ซา-ล้อ คือ แคว้นศรีเกษตร ตั้งอยู่ในประเทศพม่า แคว้นอี-ซี-นา-โป-โล คือ แคว้นอีสานปุระ แคว้นมอ-โห-เจียม-โป คือ แคว้นจามปาในประเทศเวียดนาม ส่วนแคว้นโต-โล-โป-ตี หรือชิ-โห-โป-ตี หรือโฉ-โห-โป-ตี มีหลักฐานชัดเจนว่า คือ แคว้นทวารวดี ตั้งอยู่ในดินแดนภาคกลางของประเทศไทย

            นักวิชาการมีข้อคิดเห็นแตกต่างกันออกไปเกี่ยวกับที่ตั้งของแคว้นทวารวดี วินัย พงศ์ศรีเพียร เห็นว่าแคว้นทวารวดีมีศูนย์กลางอยู่ที่ภูมิภาคตะวันตกของดินแดนประเทศไทย น่าจะหมายถึงเมืองนครชัยศรีหรือเมืองนครปฐมโบราณ ส่วนเมืองลวปุระในจารึกสมัยทวารวดี น่าจะเป็นเมืองลโวทยปุระซึ่งถูกอิทธิพลทางการเมืองของกัมพูชาแผ่เข้ามาครอบครองในพุทธศตวรรษที่๑๖

            หลักฐานที่ปรากฏแสดงให้เห็นร่องรอยของวัฒนธรรมสมัยทวารวดีซึ่งแพร่กระจายทั่วไปในดินแดนประเทศไทยระหว่างพุทธศตวรรษที่๑๒–๑๖ ทั้งในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ลักษณะร่วมทางวัฒนธรรมสมัยทวารวดีคือ มีร่องรอยการตั้งถิ่นฐานชุมชนแบบคูน้ำคันดินล้อมรอบแบบวงกลมหรือวงรีหรือแบบสี่เหลี่ยมมุมมนล้อมรอบ เมืองโบราณสมัยทวารวดี ได้แก่ เมืองนครชัยศรี เมืองอู่ทอง เมืองคูบัว(ราชบุรี) เมืองคูเมือง(สิงห์บุรี) เมืองฟ้าแดดสงยาง(กาฬสินธุ์) ฯลฯ

            ความเชื่อทางศาสนาที่แพร่หลายในแคว้นทวารวดีคือพุทธศาสนานิการเถรวาท “หลักฐานสำคัญที่พบ คือ จารึกคาถา “เยธัมมา เหตุปัปภวา” อันเป็นหัวใจของพุทธศาสนาซึ่งปรากฏเฉพาะในคัมภีร์ของศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเท่านั้น คาถาเยธัมมนาถูกจารึกในที่ต่างๆ อาทิ บนธรรมจักรศิลาและแผ่นอิฐ[19] เป็นต้น

๒) แคว้นศรีวิชัย

            บันทึกของหลวงจีนอี้จิงซึ่งเดินทางไปอินเดียระหว่างพ.ศ.๑๒๑๓–๑๒๑๖ ระบุว่า แคว้นชิ-ลิ-โฟ-ชิ หรือเช-ลิ-โฟ-ชิหรือสัน-โฟ-ชิหรือโฟ-ชิ เป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญ อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการนับถือศาสนาพุทธนิกายหินยานและศูนย์กลางการศึกษาภาษาสันสกฤตเบื้องต้น เมื่อหลวงจีนอี้จิงเดินทางกลับจากอินเดียในปีพ.ศ.๑๒๓๑ จึงได้แวะพำนักเป็นเวลา ๗ ปี และเดินทางกลับไปยังประเทศจีนในปีพ.ศ.๑๒๓๘ [20]

            ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ระบุว่า เช-ลิ-โฟ-ชิ หมายถึง อาณาจักรศรีวิชัย แต่นักวิชาการก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ว่า ศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัยตั้งอยู่ในคาบสมุทรทางภาคใต้ของไทยในพื้นที่อำเภอไชยา (สุราษฎร์ธานี)หรืออยู่เมืองปาเล็มบัง ในเกาะสุมาตราของประเทศอินโดนีเซีย

            ประมาณพุทธศตวรรษที่๑๓–๑๖ ปรากฏหลักฐานการเผยแผ่อิทธิพลศาสนาของพุทธศาสนานิกายมหายานจากนาลันทาแพร่เข้ามายังอาณาจักรศรีวิชัย นอกจากนี้แคว้นศรีวิชัยในคาบสมุทรมลายูยังมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกันกับอาณาจักรในเกาะชวาภาคกลางของอินโดนีเซียด้วย บันทึกของเจาจูกัวกล่าวว่าศรีวิชัยกลับมามีความรุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่งในปีพ.ศ. ๑๔๔๘ และจีนเรียกศรีวิชัยว่า “ซาน-โฟ-ชิ” หรือสามวิชัย เมืองขึ้นสำคัญของศรีวิชัยสามเมืองคือ ตัน-หม่า-หลิง หลั่ง-ยะ-สิเจียและโฟ-ลู-อัน แคว้นศรีวิชัยหมดอำนาจลงประมาณพุทธศตวรรษที่๑๖ เมื่อถูกโจมตีจากพวกโจฬะหรือทมิฬจากอินเดียตอนใต้

            พิเศษ เจียจันทร์พงศ์เชื่อว่าอาณาจักรศรีวิชัยอยู่ในหมู่เกาะของประเทศอินโดนีเซียปัจจุบันนักวิชาการจึงเพียงแต่เสนอสมมติฐานว่า อาณาจักรศรีวิชัยมีศูนย์กลางของราชธานีที่สามารถเคลื่อนย้ายไปตามเมืองท่าสำคัญๆระหว่างคาบสมุทรทางภาคใต้ของไทยและเกาะสุมาตรา

๓) แคว้นนครศรีธรรมราช

            จดหมายเหตุจีนในพุทธศตวรรษที่๑๓เรียกแคว้นนครศรีธรรมราชว่า “ตัน-หม่า-หลิง” หรือ“ตัน-เหมย-หลิว” เอกสารของจีนระบุว่าแคว้นตัน-หม่า-หลิงแยกตัวมาจากแคว้นลัง-ยะ-สิว(ลังกาสุกะหรือหลั่ง-เจีย-ซู)ทางทิศเหนือ จากการศึกษาของนักวิชาการพบว่าชื่อตัน-หม่า-หลิงในเอกสารจีนตรงกับชื่อแคว้นตามพรลิงค์ในเอกสารของอินเดีย ลังกาและศิลาจารึกที่พบในท้องถิ่นคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย[21]

            แคว้นนครศรีธรรมราช อาจมีพัฒนาการมาก่อนพุทธศตวรรษที่๑๙ เนื่องจากเมื่อพวกโจฬะเข้ามามีอิทธิพลในดินแดนคาบสมุทรมลายูแทนแคว้นศรีวิชัยในพุทธศตวรรษที่๑๖แล้ว พวกโจฬะได้ย้ายศูนย์กลางทางการเมือง การปกครองและการค้าจากฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมลายูมายังเมืองนครศรีธรรมราช ทำให้เมืองนครศรีธรรมราชกลายเป็นศูนย์อำนาจเข้มแข็งที่สุดในคาบสมุทรมลายู

            ในพุทธศตวรรษที่๑๘ แคว้นนครศรีธรรมราชถูกปกครองโดยราชวงศ์ปัทมวงศ์ หลักฐานศิลาจารึกและตำนานพงศาวดารของภาคใต้ระบุว่าพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์ปัทมวงศ์ทรงพระเกียรติยศดุจดังพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดีย ด้วยเหตุนี้พระมหากษัตริย์แห่งแคว้นนครศรีธรรมราชจึงมักทรงพระนามว่าพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ซึ่งมาจากรากศัพท์ว่า “ศรี + ธรรมะ + อโศกะ + ราชะ”

            แคว้นนครศรีธรรมราชมีอำนาจครอบคลุมเกือบตลอดทั้งแหลมมลายู ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวว่าเขตแดนของแคว้นนครศรีธรราชประกอบด้วยเมืองต่างๆ ๑๒ เมือง เรียกว่าเมือง ๑๒ นักษัตริย์ ได้แก่ ปัตตานี กลันตัน ปะหัง ไทรบุรี พัทลุง ชุมพร บันทายสมอ สะอุเลา ตะกั่วป่าและเมืองกระ แคว้นนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์ทางความเชื่อเนื่องในศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธนิกายมหายานและหินยาน ศิลาจารึกหลักที่๑ของสุโขทัยกล่าวว่า นครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พุทธศาสนาไปยังแคว้นสุโขทัย[22]

๔) แคว้นหริภุญชัย

        หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์และตำนานจามเทวีวงศ์เป็นเอกสารสำคัญที่สะท้อนให้เห็นพัฒนาการของการ“สร้างบ้านแปงเมือง”ในดินแดนภาคเหนือของประเทศไทยบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงตั้งแต่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูนเรื่อยลงมาถึงลุ่มแม่น้ำวังในเขตจังหวัดลำปางเมื่อพุทธศตวรรษที่๑๓ โดยระบุถึงการที่ฤาษีวาสุทพได้อัญเชิญพระนางจามเทวีแห่งกรุงละโว้เสด็จฯขึ้นไปครองแคว้นหริภุญชัยพร้อมกับนำความเชื่อทางศาสนาพุทธ วัฒนธรรมและความเจริญทางศิลปวิทยาการขึ้นไปเผยแพร่ด้วย แคว้นหริภุญชัยมีกษัตริย์ปกครองสืบทอดมาจนถึงพุทธศตวรรษที่๑๙ ก็หมดอำนาจลงเนื่องจากถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นล้านนา[23]

            อาณาเขตของแคว้นหริภุญชัยมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากเนื่องจากมีข้อจำกัดด้านภูมิประเทศที่แวดล้อมด้วยเทือกเขาสูง สภาพแวดล้อมดังกล่าวยังส่งผลทำให้บ้านเมืองซึ่งอยู่ใกล้เคียงมีขนาดเล็กและไม่มีกำลังพลเพียงพอต่อการคุกคามฐานะความเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่อารยธรรมและศิลปวิทยาการของหริภุญชัยไปยังที่ต่างๆอีกด้วย อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากราชวงศ์จามเมวีที่ปกครองแคว้นหริภุญชัยตั้งแต่ยุคแรกแล้ว หริภุญชัยยังมีกษัตริย์จากราชวงศ์อื่นเข้ามาปกครองด้วย เช่น ราชวงศ์ของพระเจ้าอาทิตย์ราชและราชวงศ์ไทยอำมาตย์ เป็นต้น

            พระมหากษัตริย์พระองค์สำคัญของแคว้นหริภุญชัย ได้แก่ พระเจ้าอาทิตย์ราชเป็นผู้สร้างพระธาตุหริภุญชัย และพระเจ้าสัพพาสิทธิ์ผู้ทรงมีบทบาททำให้แคว้นหริภุญชัยมีความสำคัญในฐานะศูนย์ทางศาสนาพุทธในดินแดนภาคเหนือตอนบน กษัตริย์พระองค์สุดท้ายของแคว้นหริภุญชัยคือพระยายีบาแห่งราชวงศ์ไทยอำมาตย์ซึ่งครองราชย์ในช่วงที่แคว้นหริภุญชัยถูกพระยามังรายยึดครองในตอนกลางพุทธศตวรรษที่๑๙

๕) แคว้นล้านนา

            นักวิชาการเสนอความเห็นว่า ความขัดแย้งของแว่นแคว้นต่างๆในดินแดนประเทศไทย และประเทศใกล้เคียงตั้งแต่พุทธศตวรรษที่๑๖–๑๘ ทำให้ศูนย์อำนาจเดิมที่คยยิ่งใหญ่ครอบคลุมภูมิภาคแห่งนี้มีสภาพเสื่อมถอย จึงเป็นโอกาสที่ทำให้เกิดแคว้นอิสระภายใต้การนำของชนกลุ่มใหม่ขึ้นมามีอำนาจแทนที่ หลักฐานประวัติศาสตร์ระบุว่าแคว้นสำคัญที่มีพัฒนาการขึ้นในระยะใกล้เคียงกันคือ แคว้นล้านนาและแคว้นสุโขทัย[24]

            เมื่อพระเจ้ามังรายทรงผนวกดินแดนของแคว้นหริภุญชัยเข้ามาอยู่ในอำนาจทางการเมืองของพระองค์สำเร็จ ภายใต้การสนับสนุนของพ่อขุนงำเมืองแห่งแคว้นพะเยาและพ่อขุนรามคำแหงแห่งกรุงสุโขทัย พระองค์ได้สถาปนาเมืองเชียงใหม่ขึ้นในปีพ.ศ.๑๘๓๙ เพื่อเป็นศูนย์กลางทางการเมืองและการปกครองของอาณาจักรล้านนา แคว้นหริภุญชัยจึงมีฐานะเป็นเมืองศูนย์กลางทางศาสนาพุทธนิกานหินยานแทน

            ตำนานพื้นเมืองล้านนาระบุว่า ถิ่นฐานเดิมของพระเจ้ามังรายอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำกกในเขตจังหวัดเชียงราย กลุ่มชนเจ้าของวัฒนธรรมล้านนาประกอบด้วยชาวไทยลื้อหรือไทยเมืองซึ่งในระยะแรกได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตจังหวัดเชียงรายบริเวณอำเภอเชียงแสน แล้วขยายตัวออกไปในเขตอำเภอเวียงชัย พวกไทยลื้อได้เข้าไปผสมผสานกับกลุ่มชนในที่สูงตระกูลลาวจกในเขตอำเภอแม่จันและอำเภอแม่สาย จากนั้นจึงขยายตัวเข้าไปในเขตเมืองพะเยาและเมืองน่าน โดยยังคงรักษาความสัมพันธ์ทางเครือญาติและมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับภูมิปัญญาด้านระบบการชลประทานแบบเหมืองฝาย[25]

            แคว้นล้านนาเป็นแคว้นสำคัญทางดินแดนภาคเหนือของประเทศไทยซึ่งมีพัฒนาการร่วมสมัยกับแคว้นสุโขทัยและอยุธยา บางสมัยดินแดนของแคว้นแห่งนี้ขยายออกไปถึงแคว้นสิบสองปันนา(ยูนนาน)และพื้นที่บางส่วนของรัฐไทยใหญ่(รัฐฉานในประเทศพม่า) ส่วนทางทิศใต้นั้นอาณาเขตของแคว้นล้านนาครอบคลุมมาจนถึงเมืองแพร่ เมืองน่านและเมืองตาก ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่๒๔ ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าเป็นช่วงเวลาสั้น ต่อมาก็ตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงรัตนโกสินทร์ จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่๕ เมื่อรัฐบาลสยามดำเนินการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินด้วยการยุบหัวเมืองประเทศราช ล้านนาจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐประชาติสยามสืบมา

๖) แคว้นสุโขทัย

            ตำราประวัติศาสตร์ก่อนระยะ ๑๐ ปีเศษที่ผ่านมามักระบุว่า อาณาจักรอ้ายลาวและอาณาจักรน่านเจ้าทางตอนใต้ของประเทศจีนเป็นรัฐที่ปกครองโดยคนไทยเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่๘-๑๕ ข้อเสนอเกี่ยวกับทฤษฎีการอพยพของชนชาติไทยจึงเรื่องราวของอาณาจักรอ้ายลาวและน่านเจ้าปรากฏอยู่ด้วยเสมอ อาทิ งานค้นคว้าของ W.A.R.Wood เรื่อง “A History of Siam” [26] งานค้นคว้าของ M. Carthew เรื่อง “The History of the Thai in Yunan” ตีพิมพ์ในวารสารสยามสมาคมฉบับพิเศษ

            งานค้นคว้าของเดวิด เค. วายแอตต์ ก็กล่าวถึงเรื่องราวอาณาจักรน่านเจ้าเช่นกัน แต่เขาก็ได้ระบุว่า พระนามของผู้ปกครองแห่งอาณาจักรน่านเจ้า อาทิ พระเจ้าพี-ล่อ-โก๊ะ พระเจ้าโก๊ะ-ล่อ-ฝง พระเจ้าฝง-เจีย-อี้ พระเจ้าอี้-มู-ฉุน คล้ายคลึงกับธรรมเนียมการตั้งชื่อของชนเผ่าโล-โล หรือธิเบต-พม่า ไม่ใช่ธรรมเนียมของคนไทย[27]

            การดำเนินงานทางโบราณคดีทำให้มีการค้นพบหลักฐานประวัติศาสตร์และโบราณคดีในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยจำนวนมาก แต่ศิลาจารึกหลักที่๑(ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง)ก็เป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้สามารถอธิบายเรื่องราวประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัยได้ชัดเจน

            ก.การก่อตัวของแคว้นสุโขทัย
            แคว้นสุโขทัยตั้งอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำยม-ปิง-น่านและป่าสัก ครอบคลุมพื้นที่บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ศูนย์กลางของแคว้นสุโขทัยอยู่ที่บริเวณลุ่มแม่น้ำยม หลักฐานศิลปะโบราณสถานและโบราณวัตถุมากมายบ่งชี้ให้เห็นความเป็นมาและความรุ่งเรืองของแคว้นแห่งนี้ แม้แต่เอกสารบางชิ้น อาทิ ตำนานพระพุทธสิหิงค์และศิลาจารึกจำนวนมากก็กล่าวถึงเรื่องราวของแคว้นสุโขทัย แต่ก็ไม่มีหลักฐานชิ้นใดให้รายละเอียดได้ครอบคลุมทุกด้าน

            แคว้นสุโขทัย เป็นรัฐสำคัญที่มีหลักฐานชัดเจนว่า ชนชั้นผู้ปกครองเป็นคนเชื้อสายไท/ ไต(Tai/ Dai) ในระยะแรกแคว้นสุโขทัยอาจก่อตัวขึ้นร่วมสมัยกับรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่๗แห่งอาณาจักรกัมพูชา(พ.ศ.๑๗๔๒–๑๗๖๓)เป็นอย่างน้อยภายใต้การนำของราชวงศ์ศรีนาวนำถม[28] ศิลาจารึกหลักที่๒ ระบุว่าพ่อขุนศรีนาวนำถม “ปู่”ของพระศรีศรัทธราราชจุฬามณีผู้สร้างจารึกนี้ ทรงมีอำนาจเหนือเมืองสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัย กล่าวคือ “ ปู่ชื่อพระยาศรีนาวนำถุม…เป็นพ่อ…เสวยราชในนครสองอัน อันหนึ่งชื่อนครสุโขทัย อันหนึ่งชื่อนครศรีสัชนาลัย…”[29]

            หลักฐานจารึกปราสาทพระขรรค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่๗[30] กล่าวถึงการสร้างพระราชไมตรีระหว่างกัมพูชากับแคว้นสุโขทัยในรัชสมัยพ่อขุนศรีนาวนำถมขณะที่ทรงทำศึกกับอาณาจักรจามปาทางทิศตะวันออกว่า “…สำหรับผู้ที่พระองค์พระราชทานความมั่งคั่งบริบูรณ์แล้ว ก็ได้พระราชทานพระธิดาด้วย…” พ่อขุนผาเมืองโอรสของพ่อขุนศรีนาวนำถมคือผู้ที่ได้รับพระราชทานพระธิดา พร้อมด้วยพระแสงขรรค์ชัยศรีและพระนาม “ศรีอินทรบดินทราทิตย์” [31]

            เฉลิม ยงบุญเกิด ผู้แปลบันทึกการเดินทางของโจวต้ากวนว่าด้วยขนบธรรมเนียมและประเพณีของเจินละ(กัมพูชา)ในพุทธศตวรรษที่๑๘อธิบายว่า แคว้นสุโขทัยมีชื่อเรียกในภาษาจีนว่า “เสียม” หรือ “เสียน”[32] ตรงกับข้อเสนอของศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ซึ่งอ้างหลักฐานจากจดหมายเหตุจีนชื่อ หยวนสื่อ(หนังสือประวัติศาสตร์ราชวงศ์หยวน ฉบับหอหลวงบรรพว่าด้วยประเทศเซียน) และหมิงสือลู่(หนังสือประวัติศาสตร์รายรัชกาลแห่งราชวงศ์หมิง) รวมถึงสารานุกรมท้องถิ่นและจดหมายเหตุเอกชนด้วย เช่น หนังสือหนานไห่จื้อ เป็นต้น[33]

            เดวิด เค. วายแอตต์ ( David K. Wyatt) ชี้ว่า แคว้นสุโขทัยเป็นอีกแคว้นหนึ่งในหลายแคว้นของชาวสยาม มีชื่อเรียกในหลักฐานเอกสารของจีนว่า “เสียม(Siem)”[34] ขณะที่อาคม พัฒิยะและนิธิ เอียวศรีวงศ์เชื่อว่า “เสียน” ในหลักฐานบันทึกของวังต้ายวนหมายถึงแคว้นสุพรรณภูมิ วังต้ายวนบันทึกว่าในปี พ.ศ.๑๘๙๒ “เสียนยอมอ่อนน้อมต่อหลอฮู่(ละโว้) ”[35]

            หลังจากแคว้นสุโขทัยตกอยู่ภายใต้การยึดครองของขอมสบาดโขลญลำพงระยะหนึ่ง พ่อขุนบางกลางหาวเจ้าเมืองบางยาง และพ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราดผู้ทรงสืบเชื้อสายกษัตริย์ราชวงศ์ศรีนาวนำถม[36] ก็วางแผนขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพงออกไป แผนดังกล่าวเริ่มขึ้นโดยพ่อขุนบางกลางหาวทรงนำทัพไปตั้งที่เมืองศรีสัชนาลัย ส่วนพ่อขุนผาเมืองได้ยกทัพไปตั้งที่บางขลง(หรือบางขลัง)ไม่ห่างจากเมืองศรีสัชนาลัยเท่าใดนัก เพื่อให้ดูประหนึ่งว่ากำลังมุ่งหน้าจะเข้าโจมตีสุโขทัย แล้วจึงอพยพชาวเมืองบางขลงไปไว้ที่เมืองราดและเมืองสากอได จากนั้นพ่อขุนผาเมืองได้นำทัพถอยมารวมกับทัพของพ่อขุนบางกลางหาวที่เมืองศรีสัชนาลัย ก่อนจะยกทัพกลับไปยังเมืองราด[37] การกระทำดังกล่าวทำให้ขอมสบาดโขลญลำพงรีบยกทัพเข้าตีเมืองศรีสัชนาลัย พ่อขุนผาเมืองจึงได้โอกาสยกทัพบุกเข้าเมืองสุโขทัยสำเร็จ[38] ต่อมาพ่อขุนผาเมืองทรงยกแคว้นสุโขทัยพร้อมทั้งถวายพระนาม“ศรีอินทรบดินทราทิตย์”แด่พ่อขุนบางกลางหาวผู้ทรงเป็นต้นราชวงศ์พระร่วง

            ข. พัฒนาการทางการเมืองของแคว้นสุโขทัย
            กรุงสุโขทัยมีกษัตริย์ปกครองทั้งสิ้น ๙ พระองค์ ปรากฏพระนามในจารึกหลักที่๑(จารึกพ่อขุนรามคำแหง)และจารึกหลักที่๔๕(จารึกปู่สบถหลาน) แต่จะกล่าวถึงเพียงรัชสมัยที่มีเหตุการณ์สำคัญ ดังนี้
พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (ประมาณ พ.ศ.๑๗๙๓- ไม่ปรากฏปีสวรรคต)
พ่อขุนบางกลางหาวเสวยราชย์เป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วง ในรัชสมัยนี้เกิดเหตุการณ์ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดยกเข้ามาตีเมืองตาก พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ส่งกองทัพไปปราบปราม ครั้งนั้นขุนรามราชโอรสของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทำยุทธหัตถีชนะขุนสามชน จึงได้รับพระราชทานนามว่า “พระรามคำแหง”[39]

            พ่อขุนรามคำแหง (พ.ศ.๑๘๒๒-๑๘๔๒) [40]
            ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงระหว่างปีพ.ศ.๑๘๒๕–๑๘๓๐ พระเจ้าหยวนสีโจว(กุบไลข่าน)กษัตริย์จีนแห่งราชวงศ์หยวน(มองโกล)ได้ส่งทัพโจมตีดินแดนต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายครั้ง อาทิ รุกรานกัมพูชาในปีพ.ศ.๑๘๒๕ โจมตีพุกามในปีพ.ศ.๑๘๒๖และพ.ศ.๑๘๓๐ ทำสงครามกับตังเกี๋ยและจามปาระหว่างปีพ.ศ.๑๘๒๖–๑๘๒๘ ส่งผลให้รัฐหลายแห่งโดยเฉพาะพุกามและกัมพูชาต้องยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขทางการเมืองและการค้าของจีน พงศาวดารโยนกสะท้อนให้เห็นว่า ผลจากการเสื่อมคลายอำนาจทางการเมืองของพุกามและกัมพูชา ทำให้พ่อขุนรามคำแหง พ่อขุนมังรายและพ่อขุนงำเมือง “ตั้งพิธีกระทำสัตย์ต่อกันและกัน ณ ริมฝั่งน้ำขุนภู” นอกเหนือจากจะมีเหตุผลเพื่อการเป็นพันธมิตรซึ่งกันและกันแล้ว ยังเป็นการแบ่งเขตอิทธิพลทางการเมืองอย่างเด่นชัดอีกด้วย [41]

            ในปีพ.ศ.๑๘๒๕ จีนพยายามส่งราชทูตชื่อ เหอจื่อจื้อเข้ามาทวงเครื่องราชบรรณาการจากสุโขทัย แต่เรือกลับถูกพายุพัดเข้าไปยังอาณาจักรกัมพูชา ทำให้คณะทูตถูกจับฆ่าทั้งหมด แต่ในปีพ.ศ.๑๘๓๕ สุโขทัยได้ส่งคณะทูตชุดแรกไปติดต่อกับจีน ทำให้จีนส่งทูตเข้ามายังแคว้นสุโขทัยเป็นครั้งที่๒ในปีพ.ศ. ๑๘๓๖
            หลักฐานศิลาจารึกหลักที่๑(จารึกพ่อขุนรามคำแหง)ระบุว่า ในปีพ.ศ.๑๘๒๖ พ่อขุนรามคำแหงได้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น จารึกหลักนี้ระบุว่าพ่อขุนรามคำแหงทรงเป็น “นักปราชญ์รู้ธรรม”ตรงกับข้อความในศิลาจารึกหลักที่๒ คือ “ลูกพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ผู้หนึ่ง ชื่อพ่อขุนรามราชปราชญ์รู้ธรรม” นอกจากนี้พ่อขุนรามคำแหงยังทรงสงเคราะห์ประชาชนด้วยการไม่เก็บภาษีจกอบ ไม่ประหารเชลยศึก ไม่เบียดเบียนทรัพย์สินของพลเมือง กำหนดสิทธิการสืบทอดมรดก และทรงผดุงความยุติธรรมในการตัดสินอรรถคดีความดังปรากฏในศิลาจารึกหลักที่๑ว่า “ไพร่ฟ้าลูกเจ้าลูกขุนผิแลผิดแผกแสกว้างกัน สวนดูแท้แลจึ่งแล่งความแก่ขาด้วยซื่อ บ่เข้าผู้ลักมักผู้ซ่อน” เป็นต้น บทบาทสำคัญอีกประการหนึ่งของพ่อขุนรามคำแหงคือ การทรงศีลในวันสำคัญทางศาสนา การสร้างขดารหินเพื่อให้พระเถระแสดงธรรมในวันพระ อีกทั้งยังทรงว่าราชการบนขดารหินนั้นด้วย อันชี้ให้เห็นถึงการปกครองแบบทศพิธราชธรรมในรัชสมัยของพระองค์[42]
            สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่๑ (พระเจ้าลิไทย)
            ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร กล่าวในบทความชื่อ “ประวัติศาสตร์สุโขทัยจากจารึก” ตอนหนึ่งว่า เมื่อพ่อขุนรามคำแหงสวรรคตแล้ว อาณาจักรสุโขทัยแตกเป็นเมืองเล็กเมืองน้อยและแยกตัวเป็นอิสระ อาทิ เมือง เชียงทอง(ตาก) และเมืองพระบาง(นครสวรรค์) สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่๑ จึงทรงรวบรวมอาณาจักรสุโขทัยขึ้นเป็นปึกแผ่นครอบคลุมระหว่างแม่น้ำปิง แม่น้ำน่านและแม่น้ำป่าสัก เมืองต่างๆที่อยู่ในอาณาเขตของแคว้นสุโขทัย ได้แก่ เชียงทอง กำแพงเพชร พระบาง ปากยม(พิจิตร) สองแคว สระหลวง(พิษณุโลก) เมืองราด สะค้า ลุมบาจายและน่าน[43]

            ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ระบุว่าในปีพ.ศ.๑๙๒๑ ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่๒ แคว้นสุโขทัยตกเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา ต่อมาสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่๓(ไสยลือไทย)ทรงประกาศเอกราชในปี พ.ศ. ๑๙๔๓ แต่ในปีพ.ศ.๑๙๕๓ ก็ตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาถึงพ.ศ.๑๙๘๑ จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๐๐๖ สุโขทัยจึงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา[44]

๗) แคว้นสุพรรณภูมิ 

            อาคม พัฒิยะและนิธิ เอียวศรีวงศ์เชื่อว่า “เสียน” ในหลักฐานของวังต้ายวนเรื่อง “บันทึกย่อเผ่าชาวเกาะ” หมายถึง “แคว้นสุพรรณภูมิ “ บันทึกของวังต้ายวนระบุว่า “ครั้นเมื่อเดือนที่๕ ของฤดูร้อนแห่งรัชกาลจื้อเจิ้ง ปีฉลู(พ.ศ.๑๘๙๒) เสียนยอมจำนนต่อหลอหู(ละโว้)” ข้อความนี้สอดคล้องกับหลักฐานประวัติศาสตร์ของราชวงศ์หมิงที่ระบุว่า “เนื่องจากหลอหูมีแสนยานุภาพสูง จึงได้ผนวกเอาดินแดนของเสียน และเรียกชื่อว่า เสียนหลอหู”

            เมื่อ Paul Pelliot แปลบันทึกของโจวต้ากวนซึ่งเดินทางร่วมกับคณะราชทูตจีนไปยังกัมพูชาในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่๘ เขาระบุว่า ครั้นหลอหูยึดครอง “เสียน” ในปีเดียวกัน จีนจึงเรียกรัฐใหม่นี้ว่า“เสียนหลอ” ในเวลาต่อมา [45]

            พิเศษ เจียจันทร์พงษ์อธิบายว่า แคว้นสุพรรณภูมิตั้งอยู่ในเขตตะวันตกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และมีอาณาเขตกระจัดกระจายอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำน้อยซึ่งเดิมเคยเป็นดินแดนของแคว้นนครชัยศรี โดยได้ย้ายศูนย์กลางเดิมจากเมืองนครชัยศรีหรือนครปฐมโบราณไปตั้งอยู่ที่เมืองสุพรรณภูมิหรือสุพรรณบุรีในปัจจุบัน[46] เนื่องจากลำน้ำบางแก้วซึ่งไหลผ่านเมืองนครชัยศรีเปลี่ยนเส้นทางเดิน ทำให้เรือใหญ่ไม่สามาถเข้าถึงได้โดยสะดวก ขณะที่เมืองสุพรรณภูมินั้นตั้งอยู่ริมแม่น้ำใหญ่คือ แม่น้ำสุพรรณบุรี สามารถติดต่อค้าขายทางทะเลและเมืองต่างๆในภูมิเดียวกันได้สะดวก ชื่อเมืองสุพรรณภูมิปรากฏอยู่ในหลักฐานต่างๆ อาทิ ศิลาจารึกหลักที่๑ ของสุโขทัย(กลางพุทธศตวรรษที่๑๙)และจารึกซึ่งพบที่เมืองชัยนาท(พุทธศตวรรษที่๒๑) แสดงให้เห็นถึงความสืบเนื่องทางวัฒนธรรม

            ในสมัยอยุธยา พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยายืนยันให้เห็นถึงความสำคัญว่า แคว้นสุพรรณภูมิมีพระมหากษัตริย์ปกครองควบคู่กันมากับกรุงศรีอยุธยา เมืองสำคัญของแคว้นสุพรรณภูมิ ได้แก่ เมืองแพรกศรีราชาริมแม่น้ำน้อย(ในเขตจังหวัดชัยนาท) เมืองราชบุรี เมืองสิงห์บุรี และมีเมืองเพชรบุรีเป็นเมืองท่าคุมเส้นทางการค้าทางใต้ จดหมายเหตุจีนระบุว่าในปี พ.ศ.๑๗๗๗ มีทูตเสียนเดินทางจากเพชรบุรีไปยังจีน หลักฐานที่ยืนยันการติดต่อระหว่างจีนกับเพชรบุรีคือ การค้นพบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซ้องจำนวนมากในสถูปเจดีย์ที่เมืองเพชรบุรี[47]

            แคว้นสุพรรณภูมิอาจมีความสัมพันธ์กับ แคว้นสุโขทัยและนครศรีธรรมราชในฐานะที่เป็น “สมาพันธรัฐ” ซึ่งถูกเรียกรวมกันในจดหมายเหตุจีนประมาณพุทธศตวรรษที่๑๙ ว่า “เสียน” เครือข่ายของบ้านเมืองในเขตแคว้นอโยธยาครอบคลุมขึ้นไปทางเหนือของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเลย ได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ และเพชรบูรณ์[48]

            การปกครองของแคว้นสุพรรณภูมิน่าจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับแคว้นอโยธยา คือประกอบด้วยเมืองหลวง เมืองลูกหลวงและเมืองที่มีความสำคัญรองลงไป พระนามเฉพาะของพระมหากษัตริย์แห่งแคว้นสุพรรณภูมิ คือ สมเด็จพระบรมราชาธิราช ส่วนผู้ปกครองเมืองลูกหลวงก็จะทรงมีพระนามว่า “พระอินทราชา”

๘) แคว้นละโว้-อโยธยา

            นักวิชาการเชื่อว่า แคว้นละโว้-อโยธยาพัฒนามาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองของแคว้นทวารวดี ซึ่งเคยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองละโว้ และมีเมืองสำคัญรองลงมาคือเมืองราม หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์กล่าวว่า เมื่อพระนางจามเทวีธิดากษัตริย์แห่งกรุงละโว้ทรงได้รับการอัญเชิญเสด็จฯไปครองเมืองหริภุญชัยนั้น พระสวามีของพระนางจามเทวีทรงครองเมืองราม หนังสือตำนานเมืองลำพูนกล่าวว่า พระนางจามเทวีทรงเป็นพระธิดาเลี้ยงและสะใภ้หลวงของพระเจ้าจักรพรรดิกษัตริย์แห่งลวรัฐ(กรุงละโว้) ส่วนพระสวามีของพระนางทรงเป็นอุปราชและปกครองเมือง“รามั(ญ)นคร” ตำนานเมืองลำพูนระบุว่า กษัตริย์แห่งเมืองลวรัฐทรงเป็น “พระมหากษัตริย์อโยทธยา”[49]

            หลักฐานจากพงศาวดารเหนือสนับสนุนข้อเสนอที่ระบุว่า ศูนย์กลางทางการปกครองของแคว้นละโว้ย้ายมายังเมืองอโยธยาบริเวณปากน้ำแม่เบี้ยทางฟากตะวันออกของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ทำให้เมืองละโว้เปลี่ยนฐานะกลายเป็นเมืองลูกหลวงจนถึงสมัยอยุธยา แต่ถึงกระนั้นจดหมายเหตุจีนก็ยังคงเรียกแคว้นแห่งนี้ว่าแคว้นหลอหูดังเดิม หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์เรียกแคว้นอโยธยาว่า แคว้นกัมโพช เพื่อเน้นให้เห็นการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมระหว่างแคว้นละโว้กับอาณาจักรกัมพูชาซึ่งมีมาแต่เดิม[50]

            การย้ายศูนย์จากเมืองละโว้มายังเมืองอโยธยาประมาณพุทธศตวรรษที่๑๘ อาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยผลักดันทางเศรษฐกิจ เมื่อการค้าขายทางทะเลกับจีนและดินแดนใกล้เคียงขยายตัว ทำให้เมืองอโยธยาซึ่งตั้งอยู่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำน้อย กลายเป็นชุมทางสำคัญของการค้ากับแคว้นต่างๆทั้งภายในและภายนอก อีกทั้งยังเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ของพ่อค้าจากแหล่งวัฒนธรรมที่หลากหลายทั้งชาวจีน อินเดีย อาหรับและเปอร์เซีย

            หลักฐานในพงศาวดารเหนือและคำให้การชาวกรุงเก่ากล่าวถึงการผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมามีอำนาจเหนือแคว้นอโยธยาของผู้ปกครองเชื้อสายต่างๆ อาทิ พระนารายณ์จากราชวงศ์ละโว้ พระยาโคตรบองจากแคว้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พระยาสินธพอมรินทร์และพระเจ้าสายน้ำผึ้งจากเชื้อสายสามัญชน เชื้อสายของพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์จากกัมพูชา หรือแม้แต่ในหลักฐานของวันวลิตก็ระบุว่า พระเจ้าอู่ทองทรงสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้ากรุงจีน เป็นต้น เรื่องราวเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานทางวัฒนธรรมของแคว้นอโยธยาได้เป็นอย่างดี

            ทางด้านความเชื่อทางศาสนานั้น พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เสนอว่า แคว้นอโยธยาสืบทอดการนับถือศาสนาพุทธนิกายหินยานผสมผสานกับนิกายมหายานมาจากเมืองละโว้(ทวารวดี) ต่อมาได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธนิกายลังกาวงศ์ ดังปรากฏหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดมเหยงคณ์ ซึ่งสร้างก่อนเมืองพระนครศรีอยุธยาและมีชื่อตรงกับวัดมหิยังคณ์ในลังกา

            แคว้นอโยธยายังคงรักษาจารีตดั้งเดิมที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยแคว้นละโว้ กล่าวคือ พระนามของพระมหากษัตริย์และเจ้านายมักจะเกี่ยวข้องกับความเชื่อในศาสนาพราหมณ์และวรรณกรรมเรื่องรามายณะ ได้แก่ สมเด็จพระรามาธิบดี หรือสมเด็จพระราเมศวร เป็นต้น หลักฐานกฎหมายเก่า รวมถึงวรรณคดีลิลิตโองการแช่งน้ำและโบราณสถานขนาดใหญ่จำนวนมากก็สะท้อนให้เห็นความเจริญทางวัฒนธรรมของแคว้นอโยธยา โดยเฉพาะซากเจดีย์โบราณซึ่งถูกครอบไว้ด้วยเจดีย์ใหญ่ชัยมงคล หรือการสร้างพระพุทธไตรรัตนนายกก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ๒๖ ปีตามหลักฐานในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์[51]

            ในปีพ.ศ. ๒๔๕๐พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เตชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่าเสนอว่า ทางฟากตะวันออกของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณก่อน “สมัยกรุงเทพทวาราวดี(กรุงศรีอยุธยา)” [52] ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่า พระเจ้าอู่ทองเสด็จฯมาสร้างเมืองอโยธยาเป็นราชธานี โดยทรงอ้างหลักฐานการสร้างพระพุทธรูป “พระเจ้าพะแนงเชิง” ในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์[53]การที่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึงเมืองอโยธยา เป็นการอธิบายให้เห็นว่ารากฐานการเติบโตของอาณาจักรอยุธยาหรือ “กรุงเทพทวาราวดี” มีพัฒนาการสืบเนื่องมาจากเมืองอโยธยา [54]

            นักวิชาการจำนวนหนึ่งยังคงเชื่อว่า การศึกษาเรื่องราวยุคหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างการเสื่อมอำนาจทางการเมืองของอาณาจักรกัมพูชาในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่๑๘ ถึงพุทธศักราช ๑๘๙๓ เป็นช่วงของพัฒนาการทางประวัติศาสตร์สมัยอโยธยา(ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙) แต่นักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งก็มีความเห็นว่า คำว่า “อโยธยา” กับ “อยุธยา” เป็นคำเรียกศูนย์กลางทางการเมืองรัฐเดียวกันแต่ต่างกันเพียงช่วงเวลาเท่านั้น โดยศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร เสนอความเห็นว่า คำว่า “อโยธยา” เป็นคำเรียกเมืองพระนครศรีอยุธยาก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่๑ในปีพ.ศ.๒๑๑๒ หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งนั้นแล้ว “อโยธยา” จึงถูกเรียกว่า “กรุงศรีอยุธยา” นับแต่บัดนั้น

            เมื่อระบุถึงเหตุการณ์ช่วงเสียกรุงในพ.ศ.๒๑๑๒ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาก็มิได้ระบุนามเมืองพระนครศรีอยุธยาว่า “อโยธยา”แต่อย่างใด ราชธานีแห่งนี้ยังคงถูกระบุนามว่า“กรุงศรีอยุธยา”สืบเนื่องมาโดยตลอด จึงชี้ให้เห็นว่ายังไม่ควรยึดถือข้อคิดเห็นข้างต้นเป็นข้อสรุป กล่าวคือ

            “…ครั้นเถิงศักราช ๙๓๑ มะเส็งศก(พ.ศ.๒๑๑๒) ณ วันอาทิตย์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน๙ เพลารุ่งแล้วประมาณ ๓ นาฬิกา ก็เสียกรุงพระนครศรีอยุธยาแก่พระเจ้าหงสา…”

            นอกเหนือจากแคว้นต่างๆดังกล่าวข้างต้นแล้ว ดินแดนประเทศไทยในอดีตยังมีร่องรอยของแว่นแคว้นหรือรัฐโบราณซึ่งยังไม่สามารถหาหลักฐานมามาอธิบายได้อย่างเพียงพอ แม้ว่าบางรัฐจะปรากฏเรื่องราวอยู่ในตำนาน พงศาวดารหรือศิลาจารึก อาทิ แคว้นศรีจนาศะ แคว้นศรีโคตรบูรณ์ แคว้นอวัธยปุระและแคว้นศามพูกปัฏฏนะ เป็นต้น แต่ก็จำเป็นจะต้องอาศัยระยะเวลาในการศึกษาค้นคว้ากันต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น